การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) คืออะไร | AI GEN
BLOG - การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) คืออะไร | AI GEN

การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) คืออะไร

31 ส.ค. 2564 23:14 น.

KYC หรือ Know Your Customer คือการที่ธุรกิจต้องรู้จักตัวตนของลูกค้าที่มาทำธุรกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครครั้งแรก และการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมในครั้งต่อๆไป ซึ่งทุกวันนี้มีข้อกฎหมายมากมายจากการป้องกันการฟอกเงิน การป้องกันการสนับสนุนการก่อการร้าย หรือเป็นกฎที่ไว้คุ้มครองผู้บริโภคจากการทุจริต ที่บังคับให้ธุรกิจต้องมีการทำ KYC ส่วนการทำ e-KYC หรือ electronic KYC นั้นก็คือการทำความรู้จักลูกค้า และสามารถยืนยันตัวตนผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้นั่นเอง

KYC โดยทั่วไปต้องครอบคลุมถึง

  • การเก็บและตรวจสอบความแท้จริงของหลักฐานเอกสารประกอบการยืนยันตัวตน เช่น บัตรประชาชน หรือ เอกสารที่ได้รับการรับรองสำหรับการยืนยันอัตลักษณ์
  • การตรวจสอบว่าลูกค้าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับในเอกสารนั้นหรือไม่
  • การเก็บข้อมูลการยืนยันตัวตนไว้อย่างปลอดภัย และสามารถนำมาใช้ได้เมื่อลูกค้ากลับมาทำธุรกรรมใหม่

 

6-3.png (200 KB)ภาพประกอบ : Canva

การทำ e-KYC นั้น สามารถทำได้โดยใช้คนในลักษณะ Face-to-face ผ่านระบบ VDO conference แต่ในทุกวันนี้ การพิสูจน์ตัวตนทางไกลผ่านสมาร์ทโฟนโดยอัตโนมัติจากการใช้เทคโนโลยี AI สามารถทำได้มากขึ้น เช่น การเทียบใบหน้าที่ถ่ายจากการทำ selfie กับรูปถ่ายบนบัตรประชาชนว่าเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่ แต่ในบางกรณีที่ธุรกรรมมีความเสี่ยงต่อความเสียหายมาก อาจมีความจำเป็นต้องใช้วิธีที่รัดกุมมากกว่านั้น เช่น การต้องใช้ข้อมูลจาก dip chip ที่ฝังอยู่ในบัตรประชาชนเพื่อยืนยันว่าเป็นตัวบัตรประชาชนของจริง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องอ่านพิเศษตามสาขาหรือตู้ให้บริการตามจุดต่างๆ ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID or NDID) ไว้ให้บริการโดยส่วนใหญ่เป็นธนาคารที่ได้รับอนุญาตการให้บริการการยืนยันตัวตนผ่านแพลตฟอร์มกลางของ NDID ซึ่งเริ่มจากการไปยืนยันตัวตนที่สาขาของธนาคารกับพนักงาน และใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชนแบบเอนกประสงค์เพื่อทำการเก็บข้อมูลชีวมิติ ได้แก่ ใบหน้า และหลังจากนั้น สามารถทำการยืนยันตัวตนทางไกลผ่านการใช้ smart device เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตได้เลยโดยไม่ต้องไปที่สาขา ส่วนธุรกรรมบางอย่างที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูง การทำ e-KYC โดยอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI ที่ได้มาตรฐานสากลหรือมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วไปอย่างเดียวก็อาจเพียงพอ

การเทียบหน้ากับรูปบนบัตรประชาชน

3-4.png (182 KB)ภาพประกอบ : Canva

วิธีการทำ e-KYC รูปแบบหนึ่งที่สามารถอาศัยเทคโนโลยี AI ให้ทำการวิเคราะห์โดยอัตโนมัติ คือการเปรียบเทียบใบหน้าผู้ใช้กับรูปถ่ายบนบัตรประชาชน หลายคนคงสงสัยว่ารูปถ่ายบนบัตรประชาชนที่ถ่ายมาหลายปีแล้วจะยังใช้ได้หรือ โดยทั่วไปความสามารถในการเทียบหน้าทำได้ด้วยความแม่นยำสูงตราบใดที่หน้าตาไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ไม่ใช่รูปถ่ายเมื่อเด็กเทียบกับตอนนี้ที่เป็นผู้ใหญ่ หรือมีการทำศัลยกรรมใบหน้าจนเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน การทำงานของเทคโนโลยีก็ยังใช้ได้ดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่าง คือ รูปบนบัตรประชาชนมีขนาดค่อนข้างเล็ก และเบลอจากมือที่ถือบัตรมีการเคลื่อนไหว หรือมีแสงเงาสะท้อนจากลายน้ำ ที่เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความแม่นยำ ดังนั้นผู้ใช้ควรวางบัตรบนที่ราบก่อนถ่าย และสังเกตคุณภาพรูปถ่ายว่าชัดเจนดีพอ ส่วนผู้ให้บริการก็ควรจะมีการแนะนำด้วยกรอบที่ให้ผู้ใช้ใช้ประกอบการวางบัตร หรือมีฟังก์ชัน auto capture ที่สามารถตรวจจับการจัดวางตำแหน่ง หรือขนาดของหน้าทั้งจากการถ่ายเซลฟี่และจากบัตรก่อนนำไปใช้

การอ่านตัวเลขหลังบัตร

4-3.png (148 KB)ภาพประกอบ : Canva

หลายคนอาจสงสัยว่าตัวเลขหลังบัตรประชาชนนั้นสำคัญอย่างไร ตัวเลขเหล่านี้เรียกกันโดยทั่วไปว่า Laser Code เป็นตัวเลขที่สามารถนำไปตรวจสอบความแท้จริง และสถานะของตัวบัตรประชาชนผ่านบริการออนไลน์ของกรมการปกครอง(DOPA)ได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบัตรยังไม่หมดอายุ และเจ้าของบัตรที่แท้จริงยังมีชีวิตอยู่ การตรวจสอบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบ AI นอกเสียจากว่าผู้ให้บริการต้องการเก็บข้อมูลรูปภาพไว้เป็นหลักฐาน และต้องการให้บริการที่เป็นอัตโนมัติแก่ผู้ใช้บริการ ก็สามารถใช้เทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) เพื่ออ่านตัวเลขเหล่านี้จากภาพถ่ายก่อนจะนำไปเช็คกับกรมการปกครองต่อไป

Liveness problem

5-3.png (129 KB)ภาพประกอบ : Canva

การทำธุรกรรมบางอย่างมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงหากผู้ทำธุรกรรมไม่ใช่เจ้าตัวจริงๆ นอกจากการเทียบหน้าว่าเป็นบุคคลเดียวกันแล้ว สำหรับธุรกรรมเหล่านี้บางครั้งมีความจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยว่าหน้าที่อยู่ตรงนั้น มาจากคนเป็นๆจริงๆ ไม่ใช่มีบุคคลที่สามแอบอ้างนำรูปถ่ายคนๆนั้นจากคลังรูปในโทรศัพท์มือถือ หรือพิมพ์รูปหน้าใส่กระดาษเท่าของจริงออกมาแล้วชูใส่กล้องในจังหวะที่ทำการเทียบ จึงเป็นที่มาของการทำ Liveness Detection หรือบางครั้งเรียกว่า Anti-spoofing (Spoof คือการพยายามหลอกลวงระบบนั่นเอง) เช่นเดียวกับระบบการรักษาความปลอดภัยอื่นๆที่เป็นการแข่งขันระหว่างโจรกับระบบป้องกัน วิธีการโกงที่สลับซับซ้อนก็ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันได้สลับซับซ้อนมากขึ้นตาม เช่น เทคนิคในการตรวจจับ liveness จากภาพนิ่งอาจใช้ไม่ได้ดีกับภาพถ่ายที่สมจริง หรือโจรที่ทำหน้ากากยางของบุคคลนั้น (ถ้าโจรลงทุนทำขนาดนั้น มันต้องเป็นอะไรที่คุ้มค่าในการโกงอย่างแน่นอน!) การทำ Liveness Detection จากภาพเคลื่อนไหวผสมผสานกับวิธีการทางด้านความปลอดภัยอื่นๆอาจจำเป็นต้องนำมาใช้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อเทคนิคเหล่านี้

aiFace Banner 2.gif (37 KB)

สรุป

การทำ e-KYC หรือการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการทำธุรกรรมได้ง่าย สะดวกรวดเร็วมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI มาช่วยในการทำ e-KYC เมื่อใช้ร่วมกับขั้นตอนการตรวจสอบอื่นอย่างเหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของธุรกรรม จะช่วยลดเวลาและกำลังคนที่ต้องดำเนินการ และสามารถลดความผิดพลาดระหว่างดำเนินการได้อีกด้วย แม้ทุกวันนี้การทำ e-KYC จะมีให้เห็นแต่ในธุรกิจ และการทำธุรกรรมทางการเงิน ในความเป็นจริงแล้ว e-KYC สามารถใช้ได้กับทุกธุรกรรมที่ต้องการทำการยืนยันตัวตนทางไกล เช่น การยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้บริการในแพลตฟอร์มออนไลน์ การเข้างานทางไกล ซึ่งเราน่าจะได้เห็นการใช้งานในลักษณะนี้มากขึ้นจาก Lifestyle ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้คนต้องใช้บริการและทำธุรกรรมทางไกลมากขึ้น

บทความอื่น

เทคโนโลยี AI นำไปใช้ในแต่ละหน้าที่งานของธุรกิจได้อย่างไรบ้าง?

อ่านต่อ

10 เหตุผลที่ธุรกิจควรใช้เทคโนโลยี OCR

อ่านต่อ

ฝึกงาน Machine learning ไปพร้อมกับการ learning ที่ AIGEN

อ่านต่อ

This website uses cookies

We use cookies to improve user experience, personalize ads, and analyze our traffic. We also share information about your use of our site with our social media, advertising and analytics partners.