AI คืออะไร
24 ส.ค. 2564 05:36 น.เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “AI” กันมาบ้างใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะมาจากโลกธุรกิจเองหรือจากภาพยนตร์ ซีรี่ส์ และเกมส์ต่าง ๆ สงสัยกันไหมคะว่าจริง ๆ แล้ว AI คืออะไร AI หมายถึงหุ่นยนต์ที่มีหน้าตาท่าทางรวมถึงพฤติกรรมคล้ายกับมนุษย์รึเปล่า วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันค่ะ…
A.I. Artificial Intelligence | ภาพประกอบจาก www.imdb.com
ภาพจำของ AI สำหรับหลาย ๆ คน อาจจะเริ่มมาจากภาพยนตร์เรื่อง A.I. Artificial Intelligence ในปี 2001 ของ Steven Spielberg ซึ่งทำให้ AI เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น แม้ในอดีตจะมีภาพยนตร์ที่กล่าวถึง AI มาบ้างแล้ว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นเรื่องแรก ๆ ที่นำเสนอ AI ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด นั่นคือ มีความคิด ความรู้สึก และความรัก
AI คืออะไร?
AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือในภาษาไทย เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคือการพัฒนาคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานได้เหมือนมนุษย์นั่นเองค่ะ
ในบทความนี้ จะกล่าวถึงการแบ่งประเภทของ AI ทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกัน นั่นคือ แบ่งประเภทจากระบบการประมวลผลของ AI และแบ่งประเภทจากระดับความสามารถของ AI ค่ะ
1. แบ่งประเภทจากระบบการประมวลผลของ AI
1.1 Reactive Machines
Reactive Machines เป็น AI ที่มีความสามารถค่อนข้างจำกัด ไม่มี memory เป็นของตัวเอง ซึ่งแปลว่าจะไม่สามารถใช้ข้อมูลเก่า ๆ ในอดีตมาพัฒนาการตัดสินใจของตัวเองให้ดีขึ้นได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ Reactive Machines ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองค่ะ ทำได้แค่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสถานการณ์ตรงหน้าเท่านั้น ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ของ AI ประเภทนี้ คือ Deep Blue ของ IBM ที่สามารถโค่น Garry Kasparov แชมป์หมากรุกอันดับหนึ่งของโลกสำเร็จในปี 1997 ค่ะ
การแข่งขันระหว่าง Garry Kasparov และ Deep Blue | ภาพประกอบจาก phys.org
1.2 Limited Memory
AI ประเภทนี้จะมี memory เป็นของตัวเอง และสามารถเรียนรู้จากข้อมูลเก่า ๆ เพื่อนำมาตัดสินใจหรือแก้ปัญหาในอนาคตได้ค่ะ เช่น หากเรานำรูปส้มกับแตงโมไปให้ AI ประเภทนี้ พร้อมบอกว่ารูปภาพไหนคือผลไม้ที่ชื่อ “ส้ม” และรูปไหนคือผลไม้ที่เรียกว่า “แตงโม” เมื่อได้รับข้อมูลรูปภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ AI ประเภท Limited Memory ก็จะสามารถบอกเราได้ว่าภาพแต่ละภาพนั้นคือส้มหรือแตงโม โดยหากยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ระดับความถูกต้องแม่นยำก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่ะ (การระบุภาพของ AI ตามตัวอย่างดังกล่าวเรียกว่า Image Recognition)
ตัวอย่างอื่น ๆ ของ AI ประเภท Limited Memory เช่น แชทบอท virtual assistants และ self-driving cars เป็นต้น
Tesla Self-Driving Car | ภาพประกอบจาก www.bbc.com
1.3 Theory of Mind
มาต่อกันที่ AI ประเภทที่ 3 นะคะ ลักษณะเด่นของ Theory of Mind ก็คือสามารถเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก วัฒนธรรม ความเชื่อต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ค่ะ แต่ในปัจจุบัน AI ประเภทนี้ยังไม่มีใครสามารถพัฒนาขึ้นมาได้จริงนะคะ เรียกได้ว่ายังต้องพัฒนาและค้นคว้ากันอีกไกลเลยค่ะ
1.4 Self-Awareness
Self-Awareness เป็น AI ขั้นสูงสุดค่ะ โดยจะมีอารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อ ความต้องการเป็นของตัวเอง รวมถึงสามารถที่จะคิด เลือก และกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองทั้งหมดค่ะ
2. แบ่งประเภทจากระดับความสามารถของ AI
2.1 Artificial Narrow Intelligence (ANI)
AI ประเภท Artificial Narrow Intelligence (ANI) หรือ Weak AI จะสามารถทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ได้ แต่จะจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ เท่านั้นค่ะ นั่นคือ ต้องเป็นงานหรือทักษะที่ได้รับการโปรแกรมมาให้ทำเท่านั้น ไม่สามารถทำงานอื่นใดนอกเหนือจากนั้น หรือเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติมได้ค่ะ ที่เราเห็นใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งหมดจัดได้ว่าอยู่ในประเภทนี้ค่ะ
2.2 Artificial General Intelligence (AGI)
Artificial General Intelligence (AGI) หรือ Strong AI มีสติปัญญาและสามารถทำงานต่าง ๆ ได้เทียบเท่ากับสมองของมนุษย์ เช่น สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผน แก้ปัญหาที่ซับซ้อน เข้าใจเรื่องราวที่เป็นนามธรรม รวมถึงสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตได้เหมือนกับที่มนุษย์ทำได้ แต่ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถพัฒนา AI ชนิดนี้ขึ้นมาได้สำเร็จนะคะ
2.3 Artificial Super intelligence (ASI)
Artificial Super intelligence (ASI) เป็นสุดยอด AI ที่มีปัญญาเหนือกว่ามนุษย์ และแน่นอนว่าในปัจจุบันเรายังไม่สามารถพัฒนา AI ประเภทนี้ขึ้นมาได้ค่ะ แต่ไอเดียการมีอยู่ของ Artificial Super intelligence (ASI) นั้น มักจะปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หรือนวนิยายค่ะ
Westworld ซีรี่ส์ที่กล่าวถึงเหล่า AI ที่สามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตนเอง | ภาพประกอบจาก www.imdb.com
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นภาพของแต่ละประเภทของ AI มากขึ้นไหมคะ หากสนใจศึกษาและพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัท AI GEN กำลังรับสมัครเพื่อนร่วมงานหลายตำแหน่งเลยนะคะ สามารถคลิกดูตำแหน่งงานที่น่าสนใจได้ที่ link นี้เลยค่ะ
แล้วพบกันนะคะ :)