5 รูปแบบของการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในธุรกิจประกันภัย | AI GEN
BLOG - 5 รูปแบบของการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในธุรกิจประกันภัย | AI GEN

5 รูปแบบของการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในธุรกิจประกันภัย

22 ก.ย. 2564 03:41 น.

ในยุคความเป็นดิจิตอลและเทคโนโลยี ณ ปัจจุบันนี้ ทุกคนน่าจะเคยใช้งาน หรืออาจมีความเชื่อมโยงกับ AI ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ AI เข้ามีบทบาทสำคัญมากในหลากหลายมิติ AI ในธุรกิจประกันภัย เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างกว้างขวาง ทั้งในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ การช่วยให้บริการหลังการขาย หรือ การพัฒนากระบวนการทำงานต่าง ๆ ของระบบในองค์กรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อการให้บริการที่ดีขึ้น และการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

 

กระบวนการทำงานที่สำคัญของบริษัทประกันชีวิต

การทำงานของบริษัทประกันชีวิตมีขั้นตอนที่หลากหลาย และ แตกต่างกันไปตามการออกแบบของแต่ละบริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือ เพื่อรองรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ

ในบทความนี้ จะกล่าวถึง 5 บทบาทสำคัญของ AI ในธุรกิจประกันภัย ที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของบริษัทประกันชีวิต ได้แก่ การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ การเสนอขายผลิตภัณฑ์ การบริการหลังการขาย การพิจารณารับประกัน และ การพิจารณาสินไหม

 

1. การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์

การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น มีความสลับซับซ้อนสูงมาก เนื่องจากต้องคำนวณราคา หรือ อัตราเบี้ยประกันภัย ผ่านการประเมินการเกิดเหตุการณ์ในอนาคต เช่น การเกิด การเจ็บป่วย การเกิดอุบัติเหตุ การเกษียณอายุ อัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

pexels-fauxels-3183153.jpeg (56 KB)

ภาพประกอบจาก www.pexels.com

กระบวนการดังกล่าวต้องมีการทำงานกับข้อมูลมากมาย จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญอย่างนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือ แอคชัวรี่ (Actuary) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์และสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เป็นอย่างดี เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการคำนวณราคา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด

ในปัจจุบัน เทรนด์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น การออกแบบผลิตภัณฑ์คุ้มครองสุขภาพที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของปัจเจกบุคคล รวมถึงการนำผลตรวจสุขภาพมาคำนวณ เพื่อหาราคาที่เหมาะสม จะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนในการคำนวณมากยิ่งขึ้นไปอีก

ความซับซ้อนในการคำนวณนั้น เป็นผลมาจากจำนวนที่มากขึ้นของข้อมูลที่ต้องนำมาใช้พิจารณา อีกทั้งยังเป็นชุดข้อมูลในมิติที่แตกต่างกันอีกด้วย การนำการวิเคราะห์เชิงทำนาย (Predictive Analytic) และ AI เข้ามาช่วย จะเพิ่มความแม่นยำในการประเมินความน่าจะเป็นของลูกค้าว่ามีโอกาสเกิดโรคมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สูงยิ่งขึ้น

 

2. การเสนอขายผลิตภัณฑ์

การเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านตัวแทนหรือช่องทางการขายอื่น ๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับบริษัทประกันภัย เนื่องจากประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีในการติดต่อกับบริษัทนั้น ๆ เป็นครั้งแรก จะส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างแน่นอน ถ้าบริษัทสามารถสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่ครั้งแรก ย่อมมีโอกาสเปลี่ยนผู้มุ่งหวังให้เป็นลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ระยะเวลาในการเสนอขายจะขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือที่ช่วยในการขาย

กระบวนการขายจะเริ่มขึ้นตั้งแต่การสอบถามข้อมูลลูกค้า และ ประเมินความต้องการของลูกค้า เพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งการนำ AI มาช่วยในการคัดกรองผลิตภัณฑ์ จะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อตัวแทนบริษัทได้เสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และลูกค้าได้ตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ ลูกค้าจะต้องกรอกใบคำขอเพื่อให้บริษัทพิจารณาอนุมัติต่อไป หากลูกค้าได้ทำการกรอกใบคำขอที่เป็นกระดาษ บริษัทส่วนใหญ่มักจะให้พนักงานพิมพ์ข้อมูลจากใบคำขอเข้าระบบ ซึ่งต้องใช้เวลาที่มากพอสมควร และอาจมีการกรอกข้อมูลผิดพลาดได้ การนำ AI เช่น AI-OCR มาช่วยจัดการข้อมูลส่วนนี้ จะช่วยลดความผิดพลาดจากมนุษย์ได้ และยังสามารถลดระยะเวลาการทำงานได้อีกด้วย

นอกจากนี้ หากบริษัทประกันมีระบบ E-Application ลูกค้าสามารถพิมพ์ข้อมูลเข้าระบบผ่าน mobile devices ได้โดยตรง การนำ AI-OCR มาช่วยจัดการดึงข้อมูลจากเอกสารประกอบการซื้อขาย เช่น บัตรประชาชน สมุดบัญชี และอื่น ๆ จะช่วยลดเวลาการซื้อขายได้มากทีเดียว และข้อมูลจะมีความถูกต้องมากขึ้นอีกด้วย

pexels-vanessa-ray-5242271.jpg (25 KB)

ภาพประกอบจาก www.pexels.com

3. การบริการหลังการขาย

เมื่อลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้ว อาจมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมภายหลัง ซึ่งลูกค้ามักคาดหวังคำตอบที่รวดเร็วฉับไว หากบริษัทต้องการให้ลูกค้าได้รับบริการหลังการขายที่ดีและรวดเร็วที่สุด บริษัทอาจต้องจัดหาพนักงานจำนวนมาก เพื่อตอบคำถามลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเช่นกัน

ในกรณีนี้ AI Chatbot ถือเป็นตัวช่วยที่ดีในการตอบคำถามดังกล่าว ซึ่งนอกจาก AI Chatbot จะสามารถตอบคำถามได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ยังสามารถลดระยะเวลาการรอสายในช่วงเวลาที่มีลูกค้าโทรเข้ามาจำนวนมากได้อีกด้วย

pexels-karolina-grabowska-5239868.jpeg (40 KB)

ภาพประกอบจาก www.pexels.com

4. การพิจารณารับประกัน

ในการพิจารณาการรับประกันแต่ละครั้ง ทางบริษัทจะต้องประเมินความเสี่ยงก่อนเสมอ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีความคุ้มครองสุขภาพด้วยนั้น บริษัทจะต้องประเมินสุขภาพของลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้มาจากเอกสารประวัติการรักษาและผลตรวจสุขภาพที่ลูกค้าให้กับทางบริษัทไว้ ซึ่งทางบริษัทประกันภัยอาจจะต้องนำข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว มาพิมพ์เข้าระบบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ระบบสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้

การพิมพ์ข้อมูลต้องใช้ทรัพยากรบุคคลมากมาย ดังนั้นการนำ AI-OCR มาดึงข้อมูลที่ต้องการเข้าระบบโดยตรง จะช่วยลดเวลาการพิจารณาการรับประกันภัยได้ ซึ่งจะทำให้การออกกรมธรรม์มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และยังสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้อีกด้วย

นอกเหนือจากการใช้ OCR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนากระบวนการพิจารณาการรับประกันภัยได้ด้วย ตัวอย่างเช่น Predictive Underwriting เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ว่าลูกค้ามีโอกาสเป็นโรคมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้การบริหารความเสี่ยงด้านการรับประกันภัยเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้นด้วย

pexels-pixabay-209224.jpeg (52 KB)

ภาพประกอบจาก www.pexels.com

5. การพิจารณาสินไหม

การพิจารณาสินไหมเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งแพทย์หรือนางพยาบาล มาวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารประกอบการพิจารณาสินไหม เช่น ใบรับรองแพทย์ หลักฐานค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อใช้เปรียบเทียบกับแผนความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้ามี เพื่อการประเมินการจ่ายสินไหมที่ถูกต้อง

การมีผู้เชี่ยวชาญให้พอเพียงในการพิจารณาสินไหม เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีนั้น ใช้งบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งจำนวนการเรียกร้องสินไหมในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน อาจมีความแตกต่างกันสูง ส่งผลให้การบริหารทรัพยากรบุคคลให้พอดีกับจำนวนการเรียกร้องสินไหมนั้นเป็นไปได้ยาก

การใช้ AI ในกระบวนการพิจารณาสินไหม จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ AI-OCR สามารถดึงข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ เช่น ใบแถลงอุบัติเหตุ รายงานแพทย์ ใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อนำเข้าระบบไปใช้ในการประเมิณการพิจารณาสินไหมต่อไปได้ ดังนั้นการใช้ AI ร่วมกับระบบการพิจารณาสินไหมจะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาสินไหมได้อย่างมาก ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าจากความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ

นอกเหนือจากทั้ง 5 หัวข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บริษัทประกันชีวิตยังต้องมีระบบการบริหารจัดการอื่น ๆ ด้วย เช่น การบริหารจัดการกรมธรรม์ การบริหารจัดการทางด้านบัญชี หรือการควบคุมดูแลการทุจริต เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการกระบวนการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกด้วย

บทความอื่น

10 รูปแบบของการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในภาคธุรกิจ

อ่านต่อ

ฝึกงาน Machine learning ไปพร้อมกับการ learning ที่ AIGEN

อ่านต่อ

TGIF Party ปาร์ตี้ออนไลน์สไตล์ AI GEN

อ่านต่อ

This website uses cookies

We use cookies to improve user experience, personalize ads, and analyze our traffic. We also share information about your use of our site with our social media, advertising and analytics partners.