รวม 8 รูปแบบของเทคโนโลยี AI ที่นิยมนำมาใช้กับการพัฒนา Mobile Application
22 ก.ย. 2564 02:05 น.เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในแวดวงของการพัฒนาแอปพลิเคชันในปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยี AI ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การผลิต การแพทย์ และการทำธุรกิจผ่านทาง Mobile application หรือแอปพลิเคชันบนมือถือ
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การนำระบบ AI มาใช้งานบน Mobile application สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น และสามาถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ Mobile application ได้ในหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แพทเทิร์นพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน ตอบคำถามได้เหมือนกับการพูดคุยกับมนุษย์ การตัดสินใจได้แบบอัตโนมัติ การจัดการงานที่ต้องทำแบบเดิมๆได้อย่างรวดเร็ว และมีความแม่นยำสูง
รวมทั้งจากรายงานสถิติ Thailand Digital Stat ปี 2021 จาก We Are Social พบว่าคนไทยใช้เวลาออนไลน์บนมือถือมากขึ้นถึง 25% รวมเป็นเวลาถึง 58,810 ชั่วโมงรวมถึงมีการดาวน์โหลดแอปต่างๆเพิ่มขึ้นกว่า 2.15 พันล้านครั้ง ซึ่งคิดเป็นยอดการใช้เงินบนแอปรวมถึง 840 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเกือบ 3 หมื่นล้านบาท
ดังนั้นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในยุคดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานให้กลับมาใช้งานแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในระยะยาวได้
วันนี้ AI GEN ได้รวบรวม 8 รูปแบบเทคโนโลยี AI ที่นักพัฒนา Mobile Application นิยมนำมาใช้กับแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามาใช้งานแอปพลิเคชัน จนทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานไม่อยากเปลี่ยนไปใช้แอปพลิเคชันอื่น
1.เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition Technology)
ภาพประกอบ : Canva
หนึ่งในรูปแบบของเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาใช้ในแอปพลิเคชันบนมือถือมากที่สุดในเรื่องของระบบการควบคุมเสียง คือการรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition) ตัวอย่างเช่น Siri จาก Apple หรือ Cortana จาก Microsoft ได้ทำการถอดรหัส และแปลงเสียงพูดของมนุษย์ให้อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้
หลายบริษัทที่มีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือได้มีการนำฟีเจอร์ Speech recognition เข้าไปอยู่ในแอปพลิเคชันด้วย เพื่อตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้ใช้งานในปัจจุบันที่นิยมการใช้งานสั่งงานด้วยเสียงผ่านอุปกรณ์ต่างๆกันมากขึ้น โดย Statista ได้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของการสั่งงานด้วยเสียงจะสูงถึง 8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2023
2.แชทบอท (Chatbot)
ภาพประกอบ : Canva
แชทบอทถือเป็นเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับธุรกิจ เนื่องจากแชทบอทจะช่วยทำการสื่อสารกับลูกค้าที่เข้ามากรอกฟอร์มในเว็บไซต์ และสอบถามคำถามเกี่ยวกับบริษัทได้แบบเรียลไทม์ แชทบอทมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยแชทบอทสามารถสนทนากับผู้ใช้งานได้เหมือนผู้ใช้งานสนทนากับมนุษย์ หลายบริษัทชื่อดังระดับโลกได้มีการนำแชทบอทมาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Apple, Amazon Microsoft และ IBM เป็นต้น
3.เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing Technology)
ภาพประกอบ : Canva
ถ้าบริษัท หรือองค์กรของคุณกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในการให้บริการลูกค้า มีความเป็นไปได้ที่แอปพลิเคชันขององค์กรคุณต้องมีการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ NLP เช่นแอปพลิเคชันที่ใช้ในการสร้างรายงาน และการรีวิวสภาพตลาดต้องมีการใช้งานเทคโนโลยี AI รูปแบบนี้ในแอปพลิเคชัน
4.การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning)
ภาพประกอบ : Canva
เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของเทคโนโลยียอดฮิตที่ถูกนำไปใช้ในการสร้าง Mobile application โดยเฉพาะในระดับองค์กร การมีแอปพลิเคชันที่มีความสามารถด้าน Machine Learning ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเทคโนโลยี Machine learning เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดประเภท และการคาดการณ์ในสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากธุรกิจของคุณเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ การสร้างแอปพลิเคชันที่มีเทคโนโลยี Machine Learning เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เลย
5.ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics)
ภาพประกอบ : Canva
เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ คือเทคโนโลยีที่สำหรับยืนยันตัวบุคคล โดยผสมผสานเทคโนโลยี ทางด้านชีวภาพ และทางการแพทย์ กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันโดยการตรวจวัดลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคนมาใช้ในการระบุตัวบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จึงทำให้มีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือสูง ซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในแอปพลิเคชันที่ต้องมีการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันทางด้านการเงิน และแอปพลิเคชันต่างๆของรัฐบาลเพื่อยืนยันการรับสิทธิ์จากรัฐบาล
6.ปัญญาประดิษฐ์ทางอารมณ์ (Emotion Recognition)
ภาพประกอบ : Canva
เทคโนโลยี AI ได้นำเสนอวิธีการที่น่าสนใจ คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการอ่าน และตรวจจับความรู้สึกของมนุษย์ผ่านทางใบหน้า โดยเทคโนโลยีประเภทนี้ได้นำการประมวลผลภาพแบบก้าวหน้า และข้อมูลเสียงมาใช้ในการตรวจจับความรู้สึกของคนได้ นอกจากนั้นเทคโนโลยี Emotion Recognition ยังช่วยทำให้ตรวจจับประสาทสัมผัสของมนุษย์ได้ด้วยการใช้เสียงสูง หรือเสียงต่ำ และสัญญาณทางคำพูดเป็นนัยๆ ทำให้เทคโนโลยีได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ
7.การตรวจจับรูปภาพ (Image Recognition)
ภาพประกอบ : Canva
การตรวจจับรูปเพิ่มถือเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อย่างมากในการนำมาใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ เทคโนโลยีการตรวจจับรูปภาพเป็นกระบวนการในการค้นหาวัตถุ หรือสิ่งของในรูปภาพที่เป็นดิจิทัล และวิดีโอ โดยเทคโนโลยีสามารถระบุรูปป้ายทะเบียนรถยนต์ วิเคราะห์กลุ่มผู้ใช้งานผ่านทางการสแกนใบหน้า และวิเคราะห์โรคได้
8.การตรวจจับตัวหนังสือ (Text Recognition)
ภาพประกอบ : Canva
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการประมวลผลภาษาธรรมชาติ หรือ NLP ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการในข่าว ,Search engine หรือตัวอักษร/ข้อความที่เป็นแพทเทิร์นได้ ในปัจจุบันเทคโนโลยีประเภทนี้ได้นำใช้กับระบบป้องกันการทุจริต และความปลอดภัย
ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับ Mobile Application อย่างไรได้บ้าง?
สำหรับการนำระบบ AI มาใช้กับแอปพลิเคชันนั้น องค์กรควรคำนึงความสะดวกสบายในการใช้งาน และความตอบโจทย์ผู้ใช้งานเป็นหลัก รวมถึงตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กร และจากนั้นจึงทำการตัดสินใจว่าจะนำเทคโนโลยี AI รูปแบบไหนบ้างมาใช้งานในแอปพลิเคชัน ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี AI มาเชื่อมต่อกับ Mobile application มีดังต่อไปนี้
- ทำให้การค้นหาข้อมูลภายในแอปพลิเคชันเป็นเรื่องง่าย และสะดวกมากยิ่งขึ้น
- เชื่อมต่อการตรวจจับเสียง รูปภาพ และวิดีโอภายในแอปพลิเคชัน
- เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน
- สร้างผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) เพื่อให้บริการลูกค้าได้แบบเรียลไทม์
- การยืนยันตัวตนผ่านทางแอปพลิเคชันผ่านการแสกนใบหน้า และบัตรประชาชน
สรุป
การนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการพัฒนา Mobile application นั้นได้ประโยชน์ทั้งกับผู้ใช้งาน และธุรกิจ ในมุมของผู้ใช้งานได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น ทำธุรกรรมต่างๆได้ผ่านบนแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมีความปลอดภัยสูง จากการใช้เทคโนโลยี Facial recognition มาใช้ในการยืนยันตัวตนเป็นต้น ในแง่ของธุรกิจเองเมื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานย่อมทำให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้งานแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เพิ่ม User Engagement และมีโอกาสจะต่อยอดเรื่องการสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้ เรียกได้ว่า Win-Win ทั้งผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน และผู้ใช้งานกันเลยทีเดียว ส่งผลทำให้ธุรกิจสามารถมีข้อมูลไปต่อยอดไปสร้างเป็นสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในอนาคตได้อีกด้วย