รวม 7 สายงานที่สามารถประยุกต์ใช้ AI ในการทำงานได้
08 ส.ค. 2564 22:26 น.AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ มิได้มีบทบาทเพียงแค่ในแวดวงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เทคโนโลยี AI ยังทำหน้าที่อยู่เบื้องหลัง และขยายตัวไปอยู่กับแทบทุกวงการ เพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับการทำงานให้มีความพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สำหรับบทความนี้ AI GEN จะพาคุณมารู้จักกับสายงานในแต่ละด้านที่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้โดยที่คุณแทบจะคาดไม่ถึง
1.AI กับการตลาดและงานขาย
ภาพประกอบ : Freepik
ในปัจจุบันนี้ AI ได้มีส่วนในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดและงานขาย โดยสามารถเก็บ Big Data มาประมวลผลแล้ววิเคราะห์ทิศทางของการตลาดหรือความสนใจและความต้องการของลูกค้าส่วนใหญ่ รวมไปถึงความสนใจเฉพาะบุคคล บริษัทใหญ่ๆ บางเจ้า เช่น Facebook หรือAIS ก็ใช้ เทคโนโลยี AI ในจับคำพูดและน้ำเสียงของลูกค้าเพื่อที่จะนำเสนอสินค้าหรือยิงโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีตอบกลับอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็น Call Center หรือ Chatbot ก็มีบทบาทในการช่วยเหลือในการตอบคำถาม หรือให้คำแนะนำลูกค้าเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละบุคคลได้อีกด้วย
2.AI กับอุตสาหกรรมทางการเงิน
ภาพประกอบ : Freepik
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในชีวิตประจำวันของเรานั้น มีการทำธุรกรรมการเงินเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโอน ฝาก หรือถอน ซึ่งระบบ AI ก็มีส่วนทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินนั้นเป็นไปอย่างง่ายดายผ่านระบบ iBanking รวมไปถึงการวิเคราะห์การลงทุนทางการเงิน เช่น การเล่นหุ้น การซื้อกองทุนหรือตราสารหนี้ รวมไปถึงการเลือกซื้อประกันภัย ซึ่ง AI จะเป็นผู้ช่วยสำคัญในการวิเคราะห์สภาพการผันผวนของการเงินในตลาดโลก หรือแม้กระทั่งคำนวณสภาพคล่องของการเงินในบัญชีของคุณและช่วยตอบคำถาม หรือแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมกับคุณที่สุด พร้อมกับเก็บข้อมูล เพื่อนำไปเรียนรู้และพัฒนาในการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น
3.AI กับการศึกษา
ภาพประกอบ : Freepik
นอกจาก AI จะเกิดจากการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยแล้วนั้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังหันกลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบ AI ในการตรวจข้อสอบหรือการบ้านที่ใช้รูปแบบของการเลือกตอบคำถาม สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้สอนสามารถวัดและประเมิณผลการเรียนของนักเรียนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการดูแลข้อมูลงานธุรการต่าง ๆในสถานศึกษา ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละสถานศึกษาจะมีฐานข้อมูลของนักเรียนหรือข้อมูลการบริหารงบประมาณต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยี AI จะช่วยให้สถานศึกษาจัดสรรข้อมูลได้อย่างเป็นระเบียบลงในระบบ ลดภาระหน้าที่ของบุคคลากร และสามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ AI ยังมีบทบาทในการช่วยคัดสรรเนื้อหาบทเรียนที่ผู้เรียนต้องการผ่านโลกออนไลน์ ในปัจจุบันมีแอพพลิเคชันต่างๆ ที่สามารถให้ผู้ที่ต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจหรือต้องการศึกษาเพิ่มเติมจากนอกห้องเรียน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการสร้างและพัฒนา AI หุ่นยนต์ผู้สอน ซึ่งในประเทศไทยก็มีการพัฒนา “Miss EDU” คุณครูเอไอในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ หุ่นยนต์ผู้สอนจะกระตุ้นความสนใจในการเรียนของผู้เรียน และลดจำนวนงานของผู้สอน ช่วยให้ระบบการศึกษาพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างยอดเยี่ยม
4. AI กับงานเขียนหรือวารสารศาสตร์
ภาพประกอบ : Freepik
งานเขียนในปัจจุบัน ได้เริ่มมีการใช้ระบบ NLP (Natural Language Processing) ในการประมวลเสียงของมนุษย์ออกมาเป็นตัวอักษร และใช้ระบบ NLG (Natural Language Generation) ในการให้ระบบ AI นั้นผลิตบทความออกมาได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ อย่างไรก็แล้วแต่ AI ไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิด หรือความรู้สึกที่เป็นส่วนสำคัญในงานเขียนเท่ากับมนุษย์ ทำให้ AI มีบทบาทเป็นผู้ช่วยนักเขียนในแง่ต่างๆ เช่น โปรแกรมตรวจสอบคำผิด และไวยากรณ์ การใช้คำซ้ำซ้อนมากเกินไป ฯลฯ อีกทั้ง AI ยังสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจงานเขียนต่างๆ และนำมาสรุปออกมาเป็นบทผ่านการเทรนข้อมูลอย่างมหาศาลได้อีกด้วย
ในแง่ของด้านสื่อหรือวารสารศาสตร์ ในปัจจุบันมีบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่บางเจ้าได้มีการใช้ผู้ประกาศข่าว AI ที่เรียนรู้ข้อมูลผ่านการชมวิดิโอถ่ายทอดสดหรือข้อมูลที่มีความซ้ำซ้อนเป็นรูทีน ทำให้อ่านข่าวออกมาได้อย่างธรรมชาติ
5. AI กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์
ภาพประกอบ : Freepik
ด้วยจำนวนเอกสาร CV หรือ Portfolio จำนวนมาก ทำให้ HR ต้องเหนื่อยกับการคัดเลือกผู้สมัครให้กับองค์กรของตน หลายๆ บริษัทจึงได้นำเทคโนโลนี AI ในการช่วยระบุความสามารถและสรรหาบุคลากรได้ตรงความต้องการอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ข้อมูลที่ระบบ AI คัดสรรมา จะช่วยให้ HR สามารถตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น
6.AI กับการแพทย์
ภาพประกอบ : Freepik
เนื่องจากร่างกายของมนุษย์เรานั้นมีความซับซ้อน ทำให้มีส่วนอวัยวะของร่างกายที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็น หรือใช้มือในการผ่าตัดได้ เทคโนโลยี AI จึงมีบทบาทในการใช้ระบบ Machine Learning และ Deep Learning ในการช่วยวินิจฉัยอาการเบื้องต้นจากระบบการถามตอบข้อมูลคนไข้ ทำให้แพทย์รักษาอาการได้อย่างท่วงทันเวลาและตรงจุด รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาโรคที่รักษายากหรือโรคที่เกิดขึ้นมาใหม่ อีกทั้งยังมีการพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กในส่วนที่มือมนุษย์เข้าถึงไม่ได้ สิ่งนี้จะช่วยลดขนาดบาดแผลและลดความเสียหายของอวัยวะให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการจับสัญญาณของโรคซึมเศร้าของบุคคลผ่านน้ำเสียงโดยใช้สมาร์ทโฟนหรือวิเคราะห์ข้อมูลจากการใช้งานบนโลกโซเชียล เป็นต้น
7.AI กับการกีฬา
ภาพประกอบ : Freepik
ปัจจุบันนี้ วงการกีฬาหลายๆแวดวงได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการฝึกซ้อมรวมถึงรวบรวมสถิติต่างๆ เช่น มวลร่างกาย เวลาในการเคลื่อนไหว หรือปัจจัยต่างๆเพื่อวัดค่าและประเมิณผลข้อมูลของนักกีฬา ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาเพิ่มศักยภาพของตนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้ง หลายๆคนคงได้ติดตามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูร้อนที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียวประจำปี 2020 ซึ่งการแข่งขันนี้ ได้นำเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ รวมถึงคาดการณ์สถิติการชนะ-แพ้ หรือแนวโน้มของการแข่งขัน อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นผู้ช่วยกรรมการตัดสินผลเพื่อให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการรับชมผ่านการถ่ายทอดสด ก็สามารถแสดงผลสมรรถภาพทางร่างกายของนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว หรือทิศทางที่เคลื่อนไหวบนผ่านจอแสดงผลแบบเรียลไทม์ระหว่างการแข่งขัน ทำให้เพิ่มอรรถรสในการรับชมของผู้ชมมากยิ่งขึ้น
สรุป
นับว่าปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี AI นั้นไม่เพียงแต่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานในแวดวงสาย Tech เท่านั้น แต่ได้แทรกซึมอยู่ในแทบทุกวงการที่กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี AI สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้หลากหลายในเบื้องต้น แต่หากจะให้ AI ทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้แบบ 100% นั้น คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน รวมถึง AI ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่ต้องใช้ความรู้สึกนึกคิดได้เหมือนกับมนุษย์ ดังนั้นจึงหมดห่วงได้ว่า AI จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่ AI นั้นเป็นเพียงผู้ช่วยที่จะช่วยให้การทำงานร่วมกับมนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น