5 ไอเดียในการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในภาคธุรกิจ
17 พ.ย. 2564 00:18 น.ในปัจจุบันเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไป เนื่องจากเทคโนโลยี AI ได้แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ตั้งแต่การปลดล็อคหน้าจอโทรศัพท์โดยใช้ Face ID การเล่นโซเชียลมีเดีย เปิดดู Google Maps เพื่อหาเส้นทางที่เดินทางได้รวดเร็วที่สุด และอื่นๆอีกมากมาย ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทำให้พวกเราทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้สะดวก และง่ายมากยิ่งขึ้น
รวมถึงในภาคธุรกิจเอง เมื่อดูจากสถิติของการนำเทคโนโลยี AI ในปี 2021 มีตัวเลขสถิติในปี 2019 ที่น่าสนใจจาก Gartner พบว่าองค์กรธุรกิจถึง 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 37% จากจำนวนองค์กรทั้งหมดที่ได้ทำการสำรวจ ได้มีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ภายในองค์กรแล้ว หรือวางแผนที่นำมาใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งตัวเลขนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 270% นับจากปี 2015 นอกจากนั้น 44% ของผู้บริหารกล่าวว่าสามารถลดต้นทุนการบริหารจัดการลงได้จากการนำ AI มาใช้ในธุรกิจของตน จากตัวเลขทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI กันมากขึ้น โดยเทคโนโลยี AI ได้รับขนานนามจากผู้นำทางธุรกิจด้าน IT ทั่วโลกว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจมากที่สุด
วันนี้ AI GEN ได้รวบรวมไอเดียในการนำเทคโนโลยี AI ที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ กับภาคธุรกิจ เพื่อเป็นไอเดียให้กับธุรกิจที่กำลังมองหาเทคโนโลยี AI ไปใช้ รวมถึงต่อยอด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจในปัจจุบัน และต่อไปถึงในอนาคต
1.ให้ AI ประมวลผลข้อมูลจากเอกสารหลากหลายประเภทได้แบบอัตโนมัติ
ภาพประกอบ : Canva
หลายๆธุรกิจอาจจะเคยประสบปัญหากับการจัดการเอกสารเป็นจำนวนมาก ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการมาดูแลเรื่องการจัดการเอกสาร ทั้งการรวบรวม การกรอกข้อมูลจากเอกสารเข้าไปในระบบขององค์กร การจัดเก็บเอกสารที่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บเอกสาร ส่งผลทำให้องค์กรมีต้นทุนในการจัดการเรื่องเอกสารแบบแมนนวลสูงถึง 30 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมอีกด้วย โดยปัญหาหลักอยู่ที่เอกสารโดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของไฟล์ PDF ไฟล์รูปภาพ ไฟล์ Word หรือ Excel ที่ยังต้องใช้พนักงานในการอ่าน ประมวลผล และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบนั่นเอง โดยที่การประมวลผล และดึงข้อมูลที่ต้องการออกมาจากเอกสารเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องใช้พนักงานยังคงเป็นประเด็นหลักที่ต้องหาโซลูชั่นมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ได้ และ Gartner ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 นี้ 50% ของใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินต่างๆทั่วโลกจะสามารถประมวลผล และดำเนินการโดยที่ไม่ต้องใช้คนเข้ามาเกี่ยวข้องได้
เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้กับธุรกิจได้ โดยใช้ระบบ Intelligent Document Processing หรือการประมวลผลเอกสารแบบอัจฉริยะ ซึ่งมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญ ทำให้สามารถดึง และประมวลผลข้อมูลจากเอกสารได้หลากหลายรูปแบบ และในหลากหลายฟอร์แมทข้อมูล โดยระบบ IDP ได้รวมเอาจุดเด่นของเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) กับจุดแข็งของเทคโนโลยี AI เข้าด้วยกัน ทำให้ปัญหาเรื่องการต้องสร้างเทมเพลตของเอกสารไว้ล่วงหน้า รวมถึงลดกระบวนการในการทำงานลงได้ ด้วยพลังของระบบ AI ทำให้การดึงข้อมูลทำงานได้อย่างง่ายดาย และการันตีถึงความแม่นยำสูง ระบบ IDP ที่มีเทคโนโลยี AI เป็นตัวขับเคลื่อนสามารถทำให้การประมวลผลเอกสารแบบอัตโนมัติเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่การดึงข้อมูลจากเอกสารจนถึงกรอกข้อมูลลงไปในระบบที่ต้องการ
2.ผู้ช่วยเสมือนอัจฉริยะ (Virtual assistant) หรือแชทบอทที่ให้บริการลูกค้าได้แบบ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องหยุดพัก
ภาพประกอบ : Canva
ถึงแม้ว่าแชทบอท หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถสื่อสาร และพูดคุยได้เหมือนกับมนุษย์ เป็นเรื่องที่หลายๆคนอาจจะได้ยินกันมาซักพักแล้ว แต่แชทบอทถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มี AI เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญที่เป็นที่รู้จัก และคุ้นเคยกันในวงกว้างทั้งในมุมของผู้ใช้งาน และในมุมของธุรกิจ สอดคล้องกับตัวเลขสถิติที่ว่า 40% ของมิลเลนเนียล (Millennial) ได้พูดคุยกับแชทบอทอยู่ตลอดในชีวิตประจำวัน และการนำแชทบอทไปใช้งานในภาคธุรกิจนั้นเติบโตถึง 92% นับตั้งแต่ปี 2019
ในแง่ของการนำแชทบอทมาใช้กับธุรกิจนั้น แชทบอทสามารถประยุกต์ใช้งานกับหลากหลายฟังก์ชั่นงาน ตั้งแต่ศูนย์ให้บริการลูกค้า ฝ่ายขาย และการตลาด จนถึงหน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคล หรือ HR โดยที่เรามักจะเห็นกันบ่อยที่สุดคือการนำแชทบอทมาใช้กับการให้บริการลูกค้า โดยการให้ Chatbot เป็น first-tier หรือด่านแรกในการให้บริการลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการโดยทำให้ลูกค้าได้รับบริการโดยทันที รวมทั้งในช่วงนอกเวลาทำการแชทบอทก็สามารถให้บริการลูกค้าได้เช่นกัน รวมถึงธุรกิจสามารถใช้แชทบอทในการตอบคำถามที่มักจะมีลูกค้าถามมาซ้ำๆได้ เช่น ราคา สี ช่องทางการสั่งซื้อสินค้า เพื่อลด workload ของพนักงานให้บริการลูกค้า ทำให้พนักงานมีเวลาในการให้บริการลูกค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษมากขึ้น นอกจากนั้นธุรกิจยังสามารถใช้แชทบอทเป็นช่องทางในการเก็บเสียงตอบรับจากลูกค้า หรือ Voice of customer ได้ เพื่อนำมาปรับปรุงในด้านต่างๆต่อไป ตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุค Data-driven หรือการนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
3.สร้างประสบการณ์สุดแสนจะประทับใจให้ลูกค้า หรือผู้ใช้งานด้วย Product Recommendation system
ภาพประกอบ : Canva
Product recommendation system ได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว ตั้งแต่การเข้า Facebook และมี notification ขึ้นว่า “อีเว้นท์ที่คุณอาจจะสนใจ” หรือเพิ่มเพื่อน “เพื่อนที่คุณอาจจะรู้จัก” หรือใน Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งชื่อดังจะมีขึ้นว่า “ซีรีส์ หรือหนังอื่นๆที่คุณน่าจะสนใจดู” รวมถึงในแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างๆ จะมีแสดงว่า “สินค้าที่คุณอาจจะสนใจ” ซึ่ง Recommendation system ได้สร้างอัลกอริทึ่มเพื่อนำเสนอสินค้า หรือบริการต่างๆที่ผู้ใช้งาน หรือลูกค้าน่าจะสนใจได้แบบรายบุคคล (Personalization) โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ประวัติการซื้อสินค้า และการเข้าไปเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์ในแต่ละหน้ามาที่มีอยู่ในฐานข้อมูลของลูกค้าแต่ละคน และด้วยความสามารถของ AI ทำให้ Recommendation system สามารถแนะนำสิ่งที่ลูกค้าแต่ละคนสนใจได้อย่างรวดเร็วสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เนื่องจากลูกค้าสามารถหาสินค้าที่ตัวเองต้องการได้ง่าย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น Recommendation system ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดอันทรงพลัง สำหรับธุรกิจ E-commerce และถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการเพิ่มยอดขาย และกำไรอีกด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ Recommendation system ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในธุรกิจค้าปลีกนั่นเอง นอกจากนั้นระบบ Recommendation system ที่ดีจะต้องสามารถตอบรับกับพฤติกรรมของลูกค้าใหม่ที่เข้ามา และสามารถแสดงผลได้ในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงสามารถให้ข้อมูลกับผู้ใช้งานเกี่ยวกับโปรโมชั่นพิเศษ และการเปลี่ยนแปลงของสินค้ารวมถึงราคาได้อย่างเหมาะสมกับในแต่ละช่วงเวลา
4.ยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้า ลดการสัมผัสตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคหลังโควิด-19
ภาพประกอบ : Canva
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้นนั้นก็คือการสแกนใบหน้า ตั้งแต่การปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์ การยืนยันตัวตนเพื่อรับสวัสดิการจากรัฐบาล หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน การสแกนใบหน้าเพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า หรือ Facial recognition ที่มี AI และ Machine learning เป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญ
โดยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า หรือ Face recognition คือการนำเทคโนโลยี Biometrics มาใช้ในการแยกแยะลักษณะต่างๆบนใบหน้าของมนุษย์เพื่อใช้ในการระบุตัวตนของบุคคลนั้นๆ
โดยมีผลวิจัยจาก Allied Market Research ได้คาดการณ์ว่าตลาดของเทคโนโลยี Facial Recognition จะมีมูลค่าเติบโตถึง 9,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2022 นี้ โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าถูกนำมาใช้ในหลากหลายรูปแบบ
ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AI และ Machine learning สามารถที่จะทำความเข้าใจความแตกต่างของลักษณะต่างๆบนใบหน้าได้โดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ หลังจากนั้นระบบจะมองหาแพทเทิร์นในข้อมูลรูปภาพที่มีอยู่ และเปรียบเทียบรูป และวิดีโอที่ได้มาใหม่กับข้อมูลเดิมที่ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูล เพื่อที่จะสามารถระบุตัวตนของแต่ละบุคคลได้ ทำให้การจำแนก แยกแยะใบหน้า และการยืนยันตัวตนสามารถทำได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วเป็นหลักวินาที จากการเทรนโมเดล AI ให้อ่านใบหน้าคนมาหลากหลายรูปแบบ รวมถึงสามารถทำงานได้ในรูปแบบอัตโนมัติทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องใช้คน หรือพนักงานในการยืนยันตัวตน ทำให้รองรับปริมาณการทำธุรกรรมพร้อมๆกันเป็นจำนวนมากได้ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญของโซลูชั่น AI-Powered Face Recognition
5.คาดการณ์แนวโน้มถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ด้วย Predictive analytics
ภาพประกอบ : Canva
การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ หรือ Predictive analytics ถือเป็น Use case ของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานในลำดับต้นๆที่มีความสำคัญกับธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการผลิต สุขภาพและความงาม ค้าปลีก การเงิน และอื่นๆ โดย Predictive analytics คือการนำอัลกอริทึ่มทางสถิติรวมกับข้อมูลทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการคาดการณ์เทรนด์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถใช้สินค้าคงคลังที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงเวลาในการจัดส่งสินค้า เพิ่มยอดขาย จนถึงลดต้นทุนในการดำเนินงาน และเมื่อนำ Predictive analytics จับคู่กับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมได้จากระบบจะเป็นกุญแจสำคัญในการคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ และทันเวลามากขึ้นในอนาคต
การจับคู่โมเดลการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์กับ AI มีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับปรุงความแม่นยำในการพยากรณ์หลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 เพราะมีข้อมูลล่าสุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ตัวอย่างเช่น การจัดหาพลาสติกอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่าง เนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการขนส่งที่ล่าช้า รระบบ AI สามารถระบุเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า ส่งผลทำให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น โดยการนำ Predictive analytics
มาใช้ควบคู่กับ AI ช่วยให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้ดียิ่งขึ้น โดยมีสินค้าคงคลังอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และลดต้นทุนในการถือครองสินค้าคงคลัง รวมถึงยังช่วยปรับปรุงเวลาในการจัดส่งสินค้า โดยแนะนำเส้นทางในการจัดส่งที่คุ้มค่าที่สุด และสามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างทันเวลา
สรุป
เทคโนโลยี AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากมายหลายด้าน เริ่มต้นจากโจทย์ทางธุรกิจว่าต้องการแก้ไขปัญหา หรือบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจในด้านใด หลังจากนั้นจึงมาพิจารณา และวิเคราะห์ต่อว่าสามารถนำ AI ไปแก้ไขปัญหา หรือเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจในส่วนใดได้บ้าง เพื่อให้การนำเทคโนโลยี AI ไปใช้กับองค์กรนั้นเกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างขีดความสามารถให้กับธุรกิจได้อย่างยั่งยืน