5 ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี AI แบบผิดๆ ในภาคธุรกิจ | AI GEN
BLOG - 5 ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี AI แบบผิดๆ ในภาคธุรกิจ | AI GEN

5 ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี AI แบบผิดๆ ในภาคธุรกิจ

 

26 ก.ย. 2564 20:50 น.

เนื่องจากในปัจจุบัน ความนิยมของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจต้องการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น เพื่อสร้างความแตกต่างในสินค้าและบริการ การหา insight เพื่อตอบโจทย์ให้ลูกค้าให้ดีขึ้น หรือ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านเวลาและแรงงาน แต่การใช้เทคโนโลยีไม่ถูกวิธี อาจทำให้สิ่งที่คาดหวังเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึง 5 การใช้งาน AI แบบผิด ๆ ในภาคธุรกิจ

1. AI แก้ปัญหาแทนคนได้ทุกอย่าง

AI ที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเพียง AI เฉพาะด้าน ที่ทำบางสิ่งบางอย่างได้ดีใกล้เคียงหรือดีกว่าคนเท่านั้น เช่น สามารถจำหน้าคนได้ เข้าใจความหมายของประโยคสั้น ๆ ได้ แยกแยะได้ว่าภาพไหนเป็นรถ คน หรือ จักรยาน เป็นต้น

การจัดการ scenario ที่หลากหลาย ซึ่งมาจากหลาย domain ไม่ใช่สิ่งที่ AI เหล่านี้ทำได้ดี (General Artificial Intelligence is still a long way away) นอกจากนี้ AI เหล่านี้เรียนรู้ (trained) มาจาก data set จำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจาก data set นั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเจอกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน ยังต้องอาศัยมนุษย์ในจัดการอยู่

ดังนั้นหากต้องการใช้ AI ในกระบวนการธุรกิจ ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในขอบเขตความสามารถของ AI และ ความคาดหวังที่เหมาะสมตามความเป็นจริง จึงจะสามารถนำไปใช้ในลักษณะงานที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

2. AI ทำงานได้ดีเท่าคน

ข้อได้เปรียบของ AI ที่เหนือกว่าคน มีหลากหลายประการ เช่น ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก จึงไม่มีทางควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้วพูดจาไม่ดีกับลูกค้า AI ไม่ต้องการการพักผ่อน ลาหยุด หรือ ลาป่วย เนื่องจากไม่มีความรู้สึกเหนื่อย ง่วง ขี้เกียจ หรือ ขาดสมาธิ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง  (อาจจะ crash บ้าง แต่เป็น 0.0001% ของคน “crash”) นอกจากนี้ AI มีข้อได้เปรียบด้านความเร็วที่สูงกว่าอย่างชัดเจน โดยอาจจะสามารถลดเวลาได้จำนวนมหาศาลในระดับเป็น 10 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้คนทำ 

human-vs-ai_orig.png (42 KB)

ภาพประกอบจาก https://www.physiowizard.com

หาก AI ทำงานผิด นั่นเป็นเพราะว่ามันไม่เคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อน หรือ อาจจะเจอกับกรณียกเว้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เช่นเดียวกันกับที่มนุษย์ก็สามารถทำงานผิดพลาดได้ การนำ AI มาใช้จึงต้องตระหนักเรื่องนี้อยู่เสมอ

ทั้งนี้ การนำ AI มาใช้อย่างถูกต้อง อาจจะต้องทำควบคู่กันไปในหลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น

2.1 ให้คนคอยตรวจเช็คและแก้ไข แต่วาง process ให้ตรวจงาน AI ได้ง่าย ๆ

การแสดงผลจาก AI จะต้องอ่านง่าย มีปุ่มให้คลิกเพียงไม่กี่ปุ่ม สามารถ edit คำตอบของ AI ได้เอง และ มีการแสดงค่าความมั่นใจของ AI เป็น score หรือ color-code เพื่อ highlight ส่วนที่คนควรจะเข้าไปดู

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI ทุกตัวนั้นจะมีค่า confidence score มาด้วยเสมอ ซึ่งในการทำนายทุกครั้ง เราอาจสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกความมั่นใจของโมเด็ลสำหรับการทำนายนั้น ๆ ได้ แต่ในบางครั้งโมเด็ลก็สามารถมั่นใจ (high confidence score) กับการทำนายของมันทั้ง ๆ ที่ทำนายผิดได้ ดังนั้น ต้องใช้ confidence score อย่างระมัดระวังเสมอ

2.2 การนำผลหรือข้อมูลจาก AI ไปใช้งาน โดยไม่ผ่านการตรวจเช็ค (straight-through processing หรือ STP)

วิธีนี้จำเป็นต้องมีการเผื่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดพลาดเหล่านั้นอย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น การแนะนำสินค้าที่ลูกค้าน่าจะถูกใจผิด ผลลบที่ได้คงเป็นเพียงการที่ลูกค้าไม่ซื้อของนั้น ๆ แต่ก็ยังอาจซื้อของอย่างอื่นต่อไปได้ ในกรณีนี้การทำปล่อยผลการทำนายเป็น STP สามารถทำได้

แต่ในอีกกรณีหนึ่ง เช่น การทำ loan auto-approval ของสถาบันการเงิน จากข้อมูล credit หรือ การทำ auto approval การส่งซ่อมรถ ของบริษัทประกันภัย หากปริมาณการเกิดขึ้นของกรณีดังกล่าวมากพอ บวกเข้ากับโอกาสในความผิดพลาดของ AI และความเสียหายในกรณีที่ปล่อยผ่านทำผิด ถ้าเทียบกันแล้วมีมูลค่าน้อยกว่าค่าใช้จ่ายแรงงานหรือมูลค่าเพิ่มที่แรงงานหรือ capital saving ดังกล่าวจะไปทำให้เกิดขึ้นได้ ก็อาจจะมีความเหมาะสมที่จะทำ STP โดยยอมให้ความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดขึ้น หรือมีการวางตัวดักชั้นสองที่รับมือจัดการกับความผิดพลาดที่ออกไปสู่โลกภายนอกแล้วภายหลัง

01.png (9 KB)

Volume = ปริมาณการเกิดขึ้นของ class หนึ่งๆ ที่จะปล่อย STP
E(false negative) = Expected value of false negative = ความน่าจะเป็นที่ AI จะทำงานผิดและปล่อยผ่าน case นี้เป็น class อื่นทั้งที่ไม่ควรปล่อย
Damage = มูลค่าความเสียหายในการปล่อยผ่าน เช่น หนี้ที่อาจจะสูญ หรือ ค่าซ่อมรถที่อาจไม่ควรต้องจ่าย

2.3 เพิ่ม threshold ของ AI confidence score

ในกรณีที่ไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดได้ เช่น การวินิจฉัยโรคร้ายแรง ที่ถ้าปล่อยผ่านอาจมีอันตรายถึงชีวิต การทำ straight-through processing นั้นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม เราสามารถตั้งค่า threshold ของ confidence score ของ AI โมเด็ลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะทำการ STP ได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ควรปล่อยผ่านตัวที่ไม่สามารถรับความเสียหายจากการตรวจจับไม่พบ แต่จากที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ผู้ใช้โมเด็ลต้องมีความแน่ใจว่า confidence score threshold นั้นใช้ได้จริง เนื่องจากบางครั้ง AI โมเด็ลบางตัวก็อาจให้ confidence score ที่สูงทั้งที่ผิดได้

AI-vs-Humans-1170x650-1.jpeg (41 KB)

ภาพประกอบจาก https://internationaldirector.com

3. AI เรียนรู้เพิ่มอยู่ตลอดเวลาและจะดีขึ้น ๆ ได้เองจนใกล้เคียง 100%

เราสามารถเทรน AI เพิ่มเติมได้จากข้อมูลที่เข้ามาใหม่ก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หายากที่โมเด็ล AI จะมีการทำการ re-training ใหม่เองโดยอัตโนมัติ ส่วนใหญ่ ข้อมูลที่ได้รับมาจะถูกจัดเก็บไว้เพื่อนำไปเทรนในภายหลังด้วยเหตุผลดังนี้

3.1 คนยังมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและสิ่งที่เป็นจริงก่อนจะนำไปเทรน

หากข้อมูลที่จะนำไปเทรนไม่ถูกต้อง เราก็จะได้โมเด็ล AI ที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน ตามคำกล่าวที่ว่า “Garbage-in garbage-out”

3.2 คนยังต้องตรวจเช็คผลว่าเมื่อเทรนใหม่แล้ว ได้ผลลัพธ์ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์หรือไม่

การที่ AI ได้รับข้อมูลบางรูปแบบเท่านั้น อาจทำให้เกิด overfit หรือการเรียนรู้แบบผิด ๆ ขึ้นได้ รวมถึงอาจเกิด bias บางอย่างที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ลักษณะทางเชื้อชาติ สีผิว หรือ เพศ เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยให้ AI ของเรา re-learn ด้วยตัวเอง อาจจะเกิดผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ตามมา

ในกรณีที่เกิดการเรียนรู้แบบผิด ๆ หรือ bias ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ต้องการให้ AI ทำการ re-train ตัวเองต่อไปก็สามารถทำได้ โดยมีข้อแม้ว่าการเรียนรู้ผิด ๆ ด้วยตัวเองของ AI นั้น จะต้องแทบจะไม่มีผล หรือ เกิดผลกระทบจาก bias น้อยมากเท่านั้น เราจึงจำเป็นต้องทำ re-training แบบ offline อยู่เสมอ ไม่ใช่ทำเมื่อมี data ใหม่เข้ามาเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการให้บริการ AI ในลักษณะ AI-as-a-service มีความแพร่หลายและสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยข้อมูลที่ผู้ให้บริการด้าน AI ได้รับไปนั้น จะถูกจัดเก็บอย่างรวดเร็วและสะดวกต่อการนำไปเทรนใหม่ ส่งผลให้การเทรนเพิ่มเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับการทำ AI on-premise นอกเสียจากว่าผู้ใช้บริการเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนา AI นั้น ๆ เอง นอกจากนี้ การหมั่น feedback ว่า AI ทำสิ่งไหนถูกหรือผิดอยู่เสมอ ยังถือเป็นการช่วยพัฒนาความสามารถของ AI ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย

human-machine-main_resize_md.jpeg (40 KB)

ภาพประกอบจาก https://interestingengineering.com

4. AI เมื่อเทรนจนดีเยี่ยมแล้ว ไม่จำเป็นต้องเทรนอีก

แม้ว่า AI จะทำงานได้ดีเยี่ยมจนเกือบ 100% ในการใช้งานปัจจุบัน แต่จะการละเลยการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอไม่ได้ เพราะอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า model drift หรือ การที่ model ที่ใช้อยู่ ไม่ตรงกับสภาพการใช้งานในปัจจุบันอีกต่อไป ซึ่งเหตุการณ์นี้สามารถแยกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม ดังนี้

4.1 Concept Drift

ความหมายของสิ่งที่บางอย่างที่เปลี่ยนไป ทำให้โมเด็ลใช้ไม่ได้อีกต่อไป เช่น การตรวจจับ fraud ถ้าความหมายของ fraud ใน business นั้น ๆ เปลี่ยนแปลง เราก็ไม่สามารถใช้โมเด็ลเดิมมาทำนาย fraud ได้อีกแล้ว

4.2 Data Drift

ข้อมูลปัจจุบันไม่ตรงกับที่ใช้เทรนโมเด็ล ยกตัวอย่างเช่น รสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้การ predict ความชอบในสินค้าใช้ได้ไม่ดีเหมือนเดิม วิธีแก้ปัญหานี้คือ ต้องคอยมีการตรวจเช็คการทำงานอยู่เสมอว่ายังคงผลเช่นเดิมอยู่หรือไม่

5. AI ต้องนำมาใช้แทนคนเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร

“AI ต้องมาแทนคน”
“ถ้า AI ทำงานได้ไม่ดีแล้วคนก็ต้องมาตรวจงาน AI เพิ่มความซ้ำซ้อน ทำงานยากกว่าเดิม”
“ถ้า AI ทำผิดแล้วจะยุ่งและเสียหาย”

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อน ๆ ว่า AI ไม่สามารถทำงานได้แม่นยำ 100% ในทุกกรณี ดังนั้นการมี mindset แบบไบนารี่ตามข้อความข้างต้น จะทำให้ธุรกิจที่มี mindset ดังกล่าวพลาดโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มประสิทธิภาพไปอย่างน่าเสียดาย

การวาง process ที่ดี โดยให้ AI ทำงานคู่กันกับมนุษย์ เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่าย 50% – 90% น่าจะเป็นเป้าหมายที่เป็นจริงและเหมาะสมกว่า หากเปรียบเทียบคงเหมือนกับเมื่อมนุษย์สร้างล้อขึ้นมาทำให้เคลื่อนย้ายของหรือคนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น หากเรามัวแต่คิดว่าล้อทำให้รถวิ่งเร็วเกินไป อันตราย แถมคนยังต้องคอยควบคุมพวงมาลัยอีก เราคงไม่มีรถใช้อย่างทุกวันนี้ ประโยชน์และความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่มาด้วยกันเสมอขึ้นอยู่กับการใช้งาน

TooBusyForWheels.jpeg (24 KB)

ภาพประกอบจาก http://www.fahrnholz.eu

สรุป

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ไปใช้ในภาคธุรกิจที่นำเสนอในบทความนี้ พบเจอได้โดยทั่วไปในทุกภาคธุรกิจ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะหลีกเลี่ยงการใช้งาน AI อย่างผิดวิธี และ เข้าใจการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องจาก AI มากขึ้น โดยทำงานควบคู่ไปกับคนในองค์กรเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

บทความอื่น

เทคโนโลยี RPA และ AI แตกต่างกันอย่างไร

อ่านต่อ

12 คำศัพท์ของเทคโนโลยี AI ที่คนทำธุรกิจในยุคนี้ต้องรู้จัก

อ่านต่อ

รู้จักกับ 4 ประเภทของการทำ Digital transformation

อ่านต่อ

This website uses cookies

We use cookies to improve user experience, personalize ads, and analyze our traffic. We also share information about your use of our site with our social media, advertising and analytics partners.